วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556




ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการ โฆษณา ที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด

ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อ โฆษณา ระงับการ โฆษณา ทันที พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สำหรับในส่วนภูมิภาค มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการ

โดยในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.56 อย.ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการ โฆษณา โดยไม่ได้รับอนุญาต อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 142 ราย ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 11 ราย และผลิตภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ จำนวน 8 ราย และเครื่องสำอาง 1 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 162 ราย ส่วนมากพบการโฆษณาทางนิตยสาร โทรทัศน์ดาวเทียม และเว็บไซต์ โดยพบ โฆษณา ในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น โฆษณาน้ำว่านหางจระเข้ มีเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจว่าสามารถรักษาป้องกันโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โฆษณา อาหารเสริม อ้างช่วยลดอาการวัยทองในผู้หญิง ช่องคลอดแห้ง ช่วยปรับสมดุลร่างกาย ป้องกันบำบัดฟื้นฟูโรคต่างๆ ทั้งเอดส์ มะเร็ง รวมถึงอ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ อ้างรักษาอาการแขนขาไม่มีแรง อาการปวดเข่า ปวดเมื่อย อ้างช่วยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ไขมันในเลือด โรคหัวใจ กระดูกทับเส้น ประสาทตาอักเสบ โรคไวรัสตับอักเสบ โรคปอด เป็นต้น ซึ่งข้อความ โฆษณา เหล่านี้ล้วนเป็นการ โฆษณา ที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ยา พบการ โฆษณา ขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ โฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณโดยบุคคลอื่น และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์  พบการโฆษณา เครื่องมือแพทย์  โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

ภญ.ศรีนวล กล่าวในตอนท้ายว่า อย. จะไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบเฝ้าระวังการ โฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ เพื่อมิให้มีการ โฆษณา ผลิตภัณฑ์โอ้อวดเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค โดยดำเนินงานร่วมกับ กสทช. และ บก.ปคบ.อย่างใกล้ชิด และดำเนินคดีกับผู้ โฆษณา และเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค
 
ที่มา: กองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น