วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556



กรมควบคุมโรคคาด อหิวาตกโรค ระบาดหนักแน่ปีนี้ กรมวิทย์เร่งเฝ้าระวังการดื้อยาของเชื้อ หวังป้องกันการแพร่ระบาด พบสายพันธุ์ Hikojima ดื้อยาต้านจุลชีพโคไตรม็อกซาโซล และ เตตราไซคลีน 100% แต่เป็นสายพันธุ์ที่พบน้อยในไทย แนะล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร      
น.พ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากรายงานการพยากรณ์ อหิวาตกโรค ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2556 จะมีการระบาดใหญ่ เนื่องจากการระบาดของโรคจะเป็นลักษณะเกิดโรค 1 ปี เว้น 2 ปี โดยเกิดระบาดครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2547, 2550 และ 2553 ตามลำดับ โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีผู้ป่วย อหิวาตกโรค ไม่เกิน 1,000 รายต่อปี
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้มีการเฝ้าระวังการ ดื้อยา ของเชื้อ อหิวาตกโรค ทางห้องปฏิบัติการ โดยทดสอบความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพ 6 ชนิด คือ แอมพิซิลลิน (Ampicillin), คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol), ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin), โคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole), นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) และเตตราไซคลีน (Tetracycline) ซึ่งได้ดำเนินการทวนสอบข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี คือ ปี พ.ศ.2553-2555 พบว่าเชื้อ Vibrio cholerae O1, El Tor, Ogawa ดื้อยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) ร้อยละ 97.7 และเตตราไซคลีน (Tetracycline) ร้อยละ 94.7 เชื้อ Vibrio cholerae O1, El Tor, Inaba ดื้อยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) ร้อยละ 99.1 เชื้อ Vibrio cholerae O1, El Tor, Hikojima ดื้อยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) และเตตราไซคลีน (Tetracycline) ร้อยละ 100 ส่วน Vibrio cholerae O139 ไม่ดื้อยาที่ทดสอบ      
"เชื้อ Vibrio cholerae O1, El Tor, Hikojima ในประเทศไทยพบน้อยมาก ดังนั้น ขอแนะนำสถานพยาบาลว่า ก่อนที่จะพิจารณาเลือกชนิดของยาปฏิชีวนะในการรักษา ควรใช้ข้อมูลเฝ้าระวังการดื้อยาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา ซึ่งปัจจุบันการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะช่วยลดระยะอาการของโรคให้สั้นลง ลดการสูญเสียน้ำ ตลอดจนลดระยะเวลาของการแพร่กระจายเชื้ออีกด้วย" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
น.พ.สมชาย แสงกิจพร ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า อาการของอหิวาตกโรคมีทั้งไม่แสดงอาการจนถึงอาการรุนแรง ดังนั้นหากพบผู้ป่วยต้องรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยการให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรดและภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ สำหรับแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ในเด็กให้ Doxycycline 5 มล./กก./วัน หรือ Norfloxacin หรือ Ciprofloxacin 10-20 มก./กก./วัน นาน 5 วัน ส่วนผู้ใหญ่ให้ Doxycycline ครั้งละ 100 มก.หรือ Norfloxacin ครั้งละ 400 มก. หรือ Ciprofloxacin ครั้งละ 500 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน หรือ Tetracycline ครั้งละ 500 มก.วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วัน
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันการเกิด อหิวาตกโรค  ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารทะเลดิบหรือสุกๆดิบๆ และที่สำคัญควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ


ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น