วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556


สนช .ชี้เทรน ผลิตอาหาร สุขภาพโลกปี 2555 ด้วย "novel food" มาแรง "เผยบริษัทยักษ์ใหญ่ ในอุตสาหกรรมอาหารทุ่มหลายสิบล้านบาททำ R&D ทางด้าน"อาหารนาโนเทคโนโลยี" เครื่องดื่มที่สามารถเปลี่ยนสีและรสชาติ เก็บ กักกลิ่น พร้อมปรับบรรจุภัณฑ์หลากหลายแบบพร้อมปรับโฉมรูปแบบบรรจุภัณฑ์อาหารบำรุงร่างกายชนิดเครื่องดื่ม ยืดอายุการสลายตัวของอาหารเสริมทำแคปซูลผงผสมน้ำ
ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจชีวภาพ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยถึงทิศทางอุตสาหกรรมอาหารในตลาดโลก ในงานสัมมนา "เทคโนโลยีและการตลาดยุคใหม่ ธุรกิจอาหารไทยพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้อย่างไร" ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ว่า ในปี 2555 ทิศทางอาหารในตลาดโลกแนวโน้มธุรกิจอาหารสุขภาพยังคงมาแรง และต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า และมีการแข่งขันกันสูง ทำให้หลายบริษัทขนาดใหญ่มีความพยายามนำเทคโนโลยีต่าง ๆ รูปแบบใหม่มาใช้ในการ ผลิตอาหาร เรียกว่า "อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (novel food)" โดยที่ผ่านมามีบริษัทยักษ์ใหญ่ ในอุตสาหกรรมอาหารได้ลงทุนหลาย สิบล้านบาทในการวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี
สนช.ชี้เทรนอาหารสุขภาพปี 55 ด้วยนาโนมาแรงทำ R&D ด้วย novel food
เช่น บริษัท Kraft Foods ได้พัฒนามีผลิตภัณฑ์ที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตคือ เครื่องดื่มที่สามารถเปลี่ยนสีและรสชาติ รวมถึงอาหารที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการ โภชนาการของผู้บริโภคแต่ละบุคคลหรือปรับเปลี่ยนตามข้อจำกัดของบุคคลที่เป็นโรคภูมิแพ้ และในประเทศออสเตรเลีย มีการวิจัยเกี่ยวกับการนำวัสดุห่อหุ้มนาโน มาหุ้มสารโอเมก้า-3 แล้วผสมลงในขนมปัง ทำให้ขนมปังไม่มีกลิ่น เหม็นคาวปลา ทำให้ได้คุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น
ในส่วนของประเทศไทยคาดว่า กลุ่ม อาหารเสริม ความงาม และอาหารควบคุมน้ำหนักมีแนวโน้มเติบโตขึ้นมาก โดยปัจจุบันมีบริษัทเอกชนหลายแห่งเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร 2 ด้านนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สุขภาพของโลกโดยรวมภายในปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 167,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก สำหรับประเทศไทยมูลค่าตลาดรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท
หากแยกสัดส่วนตลาดอาหารสุขภาพแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์พบว่า ทำเป็นบำรุงร่างกายชนิดเครื่องดื่มหรือชนิดน้ำร้อยละ 42.0 ผลิตภัณฑ์ อาหารเสริม ทั่วไป(ทั้งชนิดเม็ดและผง ไม่รวมวิตามิน)ร้อยละ 35.0 กลุ่มวิตามินร้อยละ 16.0 และกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาหารเสริม สำหรับเด็กร้อยละ 7.0 ซึ่งตลาดผลิตภัณฑ์ อาหารเสริม ทั่ว ไปและกลุ่มวิตามินนั้นมีแนวโน้มการเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูง และมีการแข่งขันรุนแรง
ในตัวของอาหารเพื่อสุขภาพเอง มีการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร 4 ด้าน ได้แก่ 1. อาหารเสริม สุขภาพในรูปของอาหารฟังก์ชั่นและผลิตภัณฑ์นิวตราซูติคอล (functional food and nutraceutical) ผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมสุขภาพเฉพาะประเภท (specialty supplements) จะมีแนวโน้มเติบโตมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมสุขภาพแบบเดิมจะมีแนวโน้มเติบโตไม่สูงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแร่ธาตุ วิตามิน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร sport nutrition
"ปัจจุบันสินค้าสุขภาพในตลาดบ้านเรานิยมผลิตเป็นเครื่องดื่ม แต่ต่อไปจะผลิตในรูปของผงใส่ในแคปซูล เพื่อนำไปผสมน้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้คุณภาพของสารอาหารคงสภาพของคุณค่าได้นานกว่า ซึ่งปัจจุบันในประเทศเยอรมนีมีการผลิต โดยทำการบรรจุภัณฑ์ใส่ขวดน้ำพลาสติกเฉพาะขึ้นมาเก็บอาหารเสริม ที่เป็นผงไว้ตรงบริเวณฝาขวด ด้านล่างเป็นน้ำ เมื่อลูกค้าซื้อไปหมุนเปิดขวดแคปซูลที่เก็บผงอาหารเสริม ไว้จะแตกออกลงไปผสมในขวด"ดร.สุรอรรถกล่าวและว่า
2. อาหารทางการแพทย์ (medical food) ปัจจุบันมีการผลิตอาหาร ทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม เช่น Heartbar เป็นขนมขบเคี้ยวสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการเสริมด้วย L-arginine ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้ผู้ป่วยเฉพาะราย ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา มีการบริโภคอาหารทางแพทย์เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีขนาดตลาดประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตของตลาดปีละ 25%
ส่วนประเทศไทยอัตราการเติบโตของตลาดอาหารทางแพทย์สูงขึ้น ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของอาหารทางแพทย์นั้น สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่ 1.อาหารทางแพทย์สำหรับผู้ป่วยเด็กและทารก เช่น การพัฒนานมสำหรับทารกที่มีอาการภูมิแพ้ 2.อาหารทางการแพทย์สำหรับเฉพาะโรค เช่น อาหารทางแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
3. อาหารอินทรีย์ (organic food) ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ เป็นตลาดที่ขยายตัวขึ้นทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2550 มีมูลค่าตลาดรวม 46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,600 พันล้านบาท ตลาดสินค้าอาหารอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผลไม้ และผัก โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 รองลงมาคือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอินทรีย์ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 17
4. อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (novel food) คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้กำหนดคำนิยาม (definitions) ของอาหาร novel foods ไว้ คือ อาหารที่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการบริโภคในสหภาพฯ อย่างแพร่หลาย เป็นอาหารที่ได้จากพืชหรือสัตว์ที่ไม่ได้ใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม เป็นอาหารที่มีการปรับแต่งโดยกระบวนการผลิตแบบใหม่ เช่น ใช้นาโนเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ (composition) หรือโครงสร้าง (structure) ของอาหาร ทำให้มีผลกระทบต่อคุณค่าทางอาหาร (nutritional value) การเผาผลาญ (metabolism) หรือระดับของสารเคมี (substances)
นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่มุ่งเน้นการออกแบบให้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาในการปรุง หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการในการเตรียมอาหาร โดยยังคงคุณค่าทางโภชนาการและความอร่อยไว้คล้ายกับอาหารที่ปรุงใหม่ เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป (Instant Foods) อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-cook) และอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) ซึ่งหาซื้อได้ง่ายและพกพาง่าย
เช่น อาหารนาโน (nanofood)ในการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารเพื่อผลิตอาหาร อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม หรือ novel food นั้น สามารถใช้ได้ทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร เช่น การหลักการ nanoencapsulation ในการเก็บกักกลิ่นต่างๆในอาหารหรือเครื่องดื่มให้ยาวนานยิ่งขึ้น หรือการใช้หลักการ nanocapsule เพื่อเพิ่มความคงอยู่ของสารสำคัญตามธรรมชาติในระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร หรือใช้เพื่อ ผลิตอาหารเสริม(supplement)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น