วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556



โภชนาการใน ผู้สูงอายุ  จึงต้องคำนึงถึงความสมดุล และความหลากหลายของอาหารให้ครบ5หมู่ แต่ให้พลังงานน้อยลงเพราะ ผู้สูงอายุ มีกิจกรรมต่างๆลดลงการทำงานของกล้ามเนื้อลดลงทำให้ความต้องการพลังงานลดลง

พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ผู้สูงอายุ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณพลังงานน้อยลง วิธีการที่ช่วยได้นอกจากลดปริมาณการบริโภคไขมันและคาร์โบไฮเดรตก็คือการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้สูงอายุ ควรรับประทานผักผลไม้ทุกมื้อ พร้อมทั้งเลือกบริโภคเนื้อไก่ปลา ถั่วแดง ข้าวซ้อมมือ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม ปอดลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะและตับอ่อน ผู้สูงอายุ ควรเพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 5 มื้อ เพื่อให้ได้ วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร ช่วยลดการท้องผูกและไม่ทำให้อ้วน เนื่องจากเป็นอาหารกลุ่มไม่มีพลังงาน ยกเว้น ผลไม้ที่มีรสหวานทุกชนิดควรจำกัดเช่นเดียวกับการจำกัดอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ทุเรียน ละมุด ขนุน ลำใย เป็นต้น และระหว่างวันควรดื่มน้ำอย่างน้อย วันละ 6-8 แก้ว จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดอาการท้องผูก ลดโอกาสเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลดอาการปากคอแห้ง และช่วยละลายเสมหะ

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุ มักมีปัญหาด้านการย่อยอาหาร เพราะมีการเสื่อมถอยของเซลล์ทุกๆเซลล์ ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับฟันและเหงือกส่งผลต่อการเคี้ยวอาหาร ปริมาณน้ำลายลดลงจะส่งผลทั้งต่อการเคี้ยวและการย่อย ประสิทธิภาพของน้ำย่อย ปริมาณน้ำย่อย และการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ถดถอย เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และท้องผูกได้ง่าย ดังนั้นจึงควรต้องบริโภคอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด หลีกเลี่ยงผลไม้ดิบหรือผักสดที่ย่อยยากและหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอดน้ำมัน ผู้สูงอายุ ควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชเต็มเมล็ด หรือ ขัดสีน้อย เพื่อเพิ่ม วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร เลือกที่มีน้ำตาลน้อย จำกัดอาหารมีน้ำตาล จำกัดไขมันทุกประเภท ถ้า ผู้สูงอายุ จะรับประทาน วิตามิน เกลือแร่หรืออาหารเสริมทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภค เนื่องจากตับและไตผู้สูงอายุ จะทำงานได้น้อยลงและอาจจะเกิดโทษจากผลข้าง เคียงของ วิตามิน เกลือแร่จากเสริมอาหารจึงสูงขึ้น จากการเพิ่มปริมาณสะสมในร่างกาย ที่สำคัญควรเลิกบุหรี่ เพราะมีสารพิษต่างๆมากมายก่อให้เกิดโรคของหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคของทางเดินหายใจ โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ โรคกรดไหลย้อน และเป็นสารก่อมะเร็งสำคัญ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งในอวัยวะส่วนศีรษะและลำคอ และโรคมะเร็งเต้านม สิ่งสำคัญคือ ผู้สูงอายุ ควรได้อาหารหลากหลายชนิด ไม่ควรกินซ้ำๆชนิดเดียวกันต่อเนื่อง เพราะจะเกิดการสะสมสารไม่พึงประสงค์ หรือ ภาวะขาดอาหารได้ง่าย

ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุด้านโภชนาการ ต้องให้ผู้สูงอายุได้อาหารมีประโยชน์ครบ5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานของ ผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เกิดโรคน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน ไม่ให้เกิดการขาดสารอาหาร ผู้สูงอายุ ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะมีผลต่อตับเพิ่มขึ้น จากการที่ตับทำงานได้น้อยลงตามอายุ และยังเป็นสาเหตุของโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ และโรคกรดไหลย้อน หรือแม้แต่เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมเพราะมีผลทำให้นอนไม่หลับ ใจสั่น และเพิ่มการขับน้ำออกทางปัสสาวะ อาจส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียน หรือ ภาวะความดันโลหิตต่ำ(หน้ามืด)ได้

แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กล่าวต่อว่า เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุด้านต่างๆแบ่งออกเป็น 11 อ. คือ 1.อาหาร 2.ออกกำลังกาย3.อนามัย 4.อุจจาระ ปัสสาวะ5.อากาศ6.แสงอาทิตย์7.อารมณ์8.อดิเรก9.อนาคต10.อบอุ่น และ11.อุบัติเหตุ ที่ลูกหลานควรให้ความสำคัญ  

ที่มา :  โภชนาการอาหารเพื่อสูงอายุ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น