ภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักเป็นภาวะที่ไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ตัวเหลืองจากน้ำดีคั่ง ซึ่งหากไม่ได้รับการผ่าตัดที่ในเวลาที่เหมาะสม อาจเกิดภาวะตับวายเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ภาวะที่สำคัญในกลุ่มโรคนี้ ได้แก่ โรคท่อน้ำดีตีบ (biliary atresia) และท่อน้ำดีโป่งพอง (choledochal cyst) ซึ่งอาการสำคัญที่ควรนึกถึงโรคกลุ่มนี้ ได้แก่ อาการตัวเหลืองตาเหลืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในรายที่มีปัสสาวะสีเข้ม และอุจจาระซีดร่วมด้วย
ท่อน้ำดีตีบ เป็นภาวะที่ท่อน้ำดีมีการอักเสบจนกลายเป็นเนื้อเยื่อพังผืดและตีบตันไป ผู้ป่วยอาจไม่เหลืองตั้งแต่แรกคลอด และทารกมักมีสุขภาพโดยทั่วไปที่ดูแข็งแรงเป็นปกติ จึงทำให้ผู้ปกครองไม่ได้พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ จนกระทั่งตับเริ่มเสื่อมลง อาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น ม้ามโต ท้องมาน หรืออาเจียนเป็นเลือด ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 2-3 ปีหากไม่ได้รับการรักษา และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รักษาได้ผลดีมักได้รับการผ่าตัดก่อนอายุ 2-3 เดือน
ท่อน้ำดีโป่งพอง เป็นภาวะผิดปกติแต่กำเนิดที่สัมพันธ์กับการเชื่อมต่อผิดปกติระหว่างท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน เกิดการคั่งของน้ำดีซึ่งจะมีผลกระทบต่อการทำงานของตับและตับอ่อน ท่อน้ำดีที่โป่งพองอาจเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น มีการโป่งพองของท่อน้ำดีภายนอกตับเป็นรูปกระสวยซึ่งเป็นแบบที่พบบ่อยที่สุด บางรายอาจมีการโป่งพองเฉพาะในส่วนที่อยู่ในตับ หรือเฉพาะส่วนปลายที่จะต่อเข้าลำไส้เล็กส่วนต้น และบางรายอาจมีการโป่งพองทั้งด้านในและนอกตับก็ได้ นอกจากอาการตัวเหลืองแล้ว ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการปวดท้อง หรือมีก้อนในช่องท้องด้านบน สามารถพบได้ทั้งในทารก เด็กโตหรือในผู้ใหญ่ก็ได้ หากเกิดอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อน ผู้ป่วยก็จะมีอาการตัวเหลืองร่วมกับไข้สูง หนาวสั่น อาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
การผ่าตัด ทั้งสองภาวะนี้สามารถแก้ไขได้โดยการตัดส่วนที่ผิดปกติของท่อน้ำดีนอกตับออก แล้วนำลำไส้ไปต่อกับทางเดินน้ำดีที่ขั้วตับเพื่อระบายน้ำดีไม่ให้คั่งค้างในตับ อายุที่เหมาะสมในการผ่าตัดแต่ละโรคอาจแตกต่างกัน ผู้ป่วยที่มีท่อน้ำดีตีบควรได้รับการผ่าตัดก่อนอายุ 2-3 เดือน ส่วนถุงน้ำดีโป่งพองอาจขึ้นกับอายุที่เริ่มมีอาการ ผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสที่จะหายเหลืองและชะลอการเสื่อมของตับได้หากได้รับการผ่าตัดทันท่วงที แต่บางรายก็อาจต้องทำการปลูกถ่ายตับในภายหลังโดยเฉพาะในโรคท่อน้ำดีตีบที่ได้รับการผ่าตัดช้า ผู้ป่วยที่เป็นท่อน้ำดีโป่งพองมีโอกาสเป็นมะเร็งของท่อน้ำดีร่วมด้วยได้เมื่ออายุมากขึ้น ทั้งสองภาวะนี้จึงควรได้รับการตรวจติดตามต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต
แม้ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการตัวเหลืองและต้องรักษาด้วยการผ่าตัดมีจำนวนไม่มากนัก แต่มักมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาภายในเวลาที่เหมาะสม เมื่อพบว่าทารกมีอาการเหลืองนานกว่า 2 สัปดาห์หลังคลอด หรือเหลืองมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะยังไม่มีปัสสาวะสีเข้ม หรืออุจจาระซีด ผู้ปกครองควรพาไปตรวจกับแพทย์ ไม่ควรทำตามความเชื่อเดิมๆ ที่มักมีผู้แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ และนำเด็กไปตากแดดซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้าและทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร การวินิจฉัยและรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสมากขึ้นที่จะมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับปกติด้วยตับของตนเอง โดยเฉพาะในรายที่เป็นท่อน้ำดีตีบ ซึ่งควรได้รับการรักษาตั้งแต่อายุไม่เกิน 2 เดือน
ทีมา : สสส.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น