กระแสความคลั่งไคล้ในการทำ ศัลยกรรม ของชาวเกาหลีใต้ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเพียงกรีดตาสองชั้น หรือการเสริมจมูก ที่ต้องพักฟื้นนานหลายเดือน
เหล่าคนดังถูกใช้ในโฆษณาที่ทำให้เชื่อว่าการทำ ศัลยกรรม จะช่วยสร้างชีวิตใหม่ ตั้งแต่ป้ายตามท้องถนน สถานีรถไฟใต้ดิน นิตยสาร อินเทอร์เน็ต รายการโทรทัศน์
การผ่าตัดกระดูก ขากรรไกร บนและล่างเพื่อแก้ไขปัญหาใบหน้าผิดรูป หรือปัญหาในการเคี้ยว ถูกนำไปเป็นวิธีศัลยกรรม เสริมความงามที่กำลังได้รับความนิยมของชาวเกาหลีใต้ที่ต้องการมีใบหน้าเรียว แต่ผู้รับการผ่าตัดกว่าครึ่งเกิดปัญหาร้ายแรงตามมา
ทันตแพทย์ชเว จิน-ยอง จากคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กล่าวว่า ค่านิยมความงามของผู้หญิงเอเชียตะวันออก คือการต้องมีตา 2 ชั้น สันจมูกโด่ง และรูปหน้าเรียวเป็นรูป"ตัววี"เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างใบหน้าที่คงทนกว่าการฉีดโบท็อกซ์ กรีดตาสองชั้น หรือเสริมดั้งจมูก ท่านกล่าวว่า การผ่าตัดศัลยกรรม ขากรรไกร มีความซับซ้อนและอันตรายอย่างมาก
ในกระบวนการผ่าตัด ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาสลบและต้องใช้เวลาพักฟื้นนานหลายเดือน เพบว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอาจเกิดความผิดพลาดทำให้เส้นประสาทใบหน้าถูกกดทับ จนทำให้ใบหน้าชาหรือถึงขั้นพิการได้
โดยข้อมูลจากสมาคมศัลแพทย์พลาสติกเพื่อความงามนานาชาติ ชี้ว่า เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการทำ ศัลยกรรม พลาสติกต่อประชากร สูงมากประเทศหนึ่งของโลก
การแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในธุรกิจ ศัลยกรรม ความงาม ทำให้ผู้ให้บริการบางรายใช้วิธีการผ่าตัดที่ไม่เหมือนใครเป็นจุดขายเรียกลูกค้า อีกทั้งยังมีคนดังหลายราย ที่เชื่อว่าได้รับเงินจากแพทย์เพื่อให้ทำ ศัลยกรรม ขากรรไกรกับคลีนิกของตน และต่อมาปรากฎในรายการโทรทัศน์พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่า การ ศัลยกรรม คือ"จุดเปลี่ยน" ทั้งต่อชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน
แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามีผู้ทำ ศัลยกรรม ประเภทนี้มากเท่าใด แต่ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า ในแต่ละปีมีจำนวนราว 5,000 ราย แต่ก็ไม่มีการแยกแยะระหว่างผู้ที่ทำ ศัลยกรรม เพื่อความงาม และผู้ที่ผ่าตัดเพื่อรักษาโรคปริทันต์ และพบว่าร้อยละ 52 ของผู้ที่ผ่านการผ่าตัดมักมีอาการชาตามใบหน้า ปวดช่องปาก หรือเคี้ยวอาหารไม่ได้ รายงานของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเกาหลีใต้ยังระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการผ่าตัด ขากรรไกร มากถึง 89 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 ปีก่อนถึงร้อยละ 32
ผู้รับการผ่าตัดรายหนึ่งเผยว่า ปากเบี้ยวไปทางซ้ายตลอดเวลา บริเวณ ขากรรไกร ชา ไม่มีความรู้สึกแม้แต่น้ำลายไหลออกมา เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นักศึกษาหญิงวัย 23 ปี รายหนึ่ง ถึงกับฆ่าตัวตาย เพราะกลัดกลุ้มทนไม่ไหวที่เคี้ยวอาหารไม่ได้ และมีน้ำตาไหลตลอดเวลา เพราะเส้นประสาทที่ท่อน้ำตาเสียหายหลังการผ่าตัด ขากรรไกร
นายชิน ฮยอน-โฮ ทนายความด้านการรักษาทางการแพทย์ที่ผิดพลาด เปิดเผยว่า เขาเคยเห็นกรณีที่การทำศัลกรรมส่งผลต่อการเจ็บปวดเรื้อรังบริเวณกราม ปากเบี้ยว และฟันบนล่างที่ทำงานไม่ประสานกัน ทำให้ไม่สามารถเคี้ยวหรือยิ้มได้
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้จึงอยู่ระหว่างหารือกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการผ่าตัด ศัลยกรรม โดยเฉพาะการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระดูก เช่นการผ่าตัด ขากรรไกร
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ ลิม อิน ซุก จากมหาวิทยาลัยเกาหลี กล่าวว่าข้อกำหนดดังกล่าวไม่สามารถจัดการต้นตอของปัญหาได้ อีกทั้งเป็นการผลักให้ผู้ผ่าตัดบางรายต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงเพื่อให้ได้ใบหน้าที่สวยงาม
ที่มา : มติชน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น