วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557


ปัจจุบันมีหลักฐานพบว่าองค์ประกอบของอาหารบางชนิดไม่จัดเป็น สารอาหาร แต่อาจให้ประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพประเทศสหรัฐ อเมริกา ให้ความรู้ว่า องค์ประกอบหลักในอาหารแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็น สารอาหาร และส่วนที่ไม่ใช่สารอาหาร องค์ประกอบทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์ต่อการป้องกัน หรือช่วยส่งเสริมการรักษาโรคเรื้อรัง มองได้ถึงองค์ประกอบที่มีฤทธิ์ลดหรือป้องกันโรค

แนวทางการพัฒนา อาหารฟังก์ชัน ก็มาจากแนวคิดของการใช้อาหารเป็นยา (Food as medicine) ที่อาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าแค่ สารอาหาร หลักๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิดปัจจุบันสมาคมนักกำหนดอาหาร แห่งสหรัฐอเมริกา (Academy of Nutrition and Dietetics หรือ AND) ได้ให้คำจำกัดความ อาหารฟังก์ชัน ว่าเป็น "อาหารธรรมชาติที่มีการแต่งเติม สารอาหาร ให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อเพิ่มประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ เมื่อบริโภคเป็นส่วนหนึ่งของอาหารหลากหลายสม่ำเสมอในชีวิตประจำวันและบริโภค ในปริมาณที่ เพียงพอ จะส่งผลดีต่อสุขภาพ"
         
ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานวิชาการ ชมรมโภชนวิทยามหิดล ให้ข้อมูลว่า จากกระแสอาหารเพื่อสุขภาพนี้เองส่งผล ให้นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร นักวิทยาศาสตร์การอาหาร แพทย์ เภสัชกร พยาบาล และนักการตลาดทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร หันมาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ทำให้เกิดการค้นพบคุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาของอาหารมากขึ้นประโยชน์ของ อาหารฟังก์ชัน คือ เป็นอาหารที่รับประทานร่วมกับมื้ออาหารได้ ให้ผลในการป้องกันโรค เพิ่มภูมิคุ้มกัน ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
      
ตัวอย่างอาหารฟังก์ชันที่ได้รับความนิยม เช่น

  • งา เป็นแหล่งของแคลเซียม และยังมีสารเซซามินซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในกระบวนการกำจัดสารพิษ
  • พรุน นอกจากมีใยอาหารจำนวนมาก ยังมีกรดนีโอโคลโรเจนนิก และกรดโคลโรเจนนิก ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งป้องกันกระดูกพรุนได้
  • ผล ไม้ตระกูลเบอร์รี่ อย่างบิลเบอร์รี่ ที่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ คือ สารแอนโธไซยานิน ซึ่งเป็นสารที่มีสีแดงม่วงจนไปถึงน้ำเงิน มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันดวงตาจากการทำลายของอนุมูลอิสระ เป็นต้น
  • น้ำมันปลา ประกอบด้วยกรดไขมัน ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง หรือโอเมก้า-3 ที่สามารถลดระดับไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบ และช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
  • โสม มีสารจินเซนโนไซด์ ที่ทำให้ร่างกายมีการปลดปล่อยพลังงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดความเมื่อยล้า
  • ซุปไก่ ของชาวจีนที่ถูกแปรรูปไปเป็นซุปไก่สกัด ซึ่งให้โปรตีนและเปปไทด์ รวมทั้งสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอื่นๆ บางชนิดที่ เกิดจากการตุ๋นซึ่งไม่พบในการกินเนื้อไก่โดยตรง
  • เห็ด ทางการแพทย์ เช่น เห็ดไมตาเกะ เห็ดยามาบูชิตาเกะ เห็ดฮิเมะมัตสึทาเกะ ถั่งเฉ้า เห็ดหลินจือ หรือเรอิชิเห็ดชิตาเกะ และเห็ดแครง เป็นต้น
ที่ สำคัญเราต้องรับประทานอาหารหลักให้หลากหลาย ครบทุกหมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส และพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อการมีสุขภาพที่ดี

ที่มา : http://bit.ly/1jTHe9g

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น