อย. และ สสจ.พิษณุโลก ผนึกกำลังบุกทลายแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Miracle Slim Plus โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ ลดน้ำหนัก ทางโชเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่าง ๆ ตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบเลขสารบบอาหาร เจ้าหน้าที่จึงยึดและอายัดของกลางและดำเนินคดีผู้กระทำผิด พร้อมนำผลิตภัณฑ์ส่งตรวจหายาหรือสารอันตรายต่อไป ย้ำผู้บริโภค อย่าซื้อผลิตภัณฑ์ในลักษณะเช่นนี้เป็นอันขาด และอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สามารถลดความอ้วนได้ เพราะอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตราย
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลเตือนภัยเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Miracle Slim Plus ทางโชเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่มีลักษณะเป็นยา และจากการตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Miracle Slim Plus ดังกล่าวไม่มีเลขสารบบอาหาร มีแหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก และ ข้อมูลจากหมายเลขโทรศัพท์ข้างกล่องทราบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอ้างว่าเป็นยาของหมอจากโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกจึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค6 และทหารจากค่ายสมเด็จพระนเรศวร เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Miracle Slim Plus ตั้งอยู่เลขที่ 85/2 หมู่ 2 ต.บึงพระ อ.เมือง จ.พิษณุโลก พบว่ามีการผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังกล่าวจริง โดยมีการจัดการสถานที่ อุปกรณ์การผลิตและยาแผนปัจจุบันจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมด พร้อมดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดในข้อหา ผลิตนำเข้า และขายยาแผนปัจจุบัน โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท พร้อมส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตรวจวิเคราะห์หาสารอันตรายต่อไป
รองเลขาธิการ ฯ อย. และโฆษก อย. กล่าวต่อไปว่า ในขณะเดียวกัน อย. ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ.เข้าตรวจสอบสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Miracle Slim Plus โดยกล่องผลิตภัณฑ์ระบุ บริษัท มิราเคิลสลิมพลัส จำกัด เลขที่ 729/27 ซ.ลาดพร้าว 101 (วัดบึงทองหลาง) แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ จากการเข้าตรวจสอบปรากฏว่าไม่พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น อย. จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาบริโภคอย่างเด็ดขาด เนื่องจากตรวจสอบในเบื้องต้น เมื่อแกะผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่า มีลักษณะเป็นยา ซึ่งอาจจะเป็นยาหลายชนิดมาบรรจุขายรวมกันในกล่อง เช่น ยาระบาย ยาระงับความอยากอาหาร ยาขับปัสสาวะ ยาเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ยานอนหลับ จึงอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากยาชุดดังกล่าวได้
รองเลขาธิการ ฯ อย. และโฆษก อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนประชาชนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น อ้างว่าช่วย ลดน้ำหนัก ได้เด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตรายจากการลักลอบใส่ยาหรือสารอันตรายลงไป ทั้งนี้ การ ลดน้ำหนัก หรือลดความอ้วนโดยใช้ยาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ แต่อย่างไรก็ตามสามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และควบคุมอาหาร โดยไม่กินอาหารพร่ำเพรื่อ ไม่กินจุบกินจิบ ควรกินอาหารที่หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสมครบ 5 หมู่ กินอาหารประเภทผัก ผลไม้ มากกว่าอาหารที่มีแป้งและน้ำตาล รวมทั้งควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้แจ่มใส นอกจากจะทำให้มีสุขภาพดีแล้ว ยังทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างยั่งยืนด้วย ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาและอ่านฉลากให้ถ้วนถี่เสียก่อน โดยต้องแสดงฉลากภาษาไทย ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต/นำเข้า เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. แสดงวันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น