โภชนาการที่ดี ก็เปรียบเสมือน ยา ที่ดี ไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยโรค มะเร็ง สามารถทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาได้เท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้เช่นกันการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงอย่างโรค มะเร็ง นั้น ผู้ป่วยต้องเผชิญทั้งกับความเจ็บปวดจากโรค และผลข้างเคียงจากการรักษา
ซึ่งส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย เช่น ความรู้สึกอยากอาหารลดลง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และซึมเศร้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักมีร่างกายผ่ายผอมลงอย่างรวดเร็วคำแนะนำเกี่ยวกับชนิดของอาหารและการจัดการอุปสรรคในการรับประทานอาหารของผู้ป่วยมาฝากกันก็คือ เลือกชนิดของอาหาร สำหรับอาหารที่ผู้ป่วย มะเร็ง ควรได้รับนั้น คือ อาหารที่ให้โปรตีนและพลังงานสูง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและชดเชยน้ำหนักที่ลดลง แต่การรับประทานเฉพาะเนื้อสัตว์และแป้งก็ยังไม่เพียงพอ เพราะวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ผู้ป่วยควรได้รับแต่อาหารที่มีประโยชน์และรับอย่างสมดุล อย่างคาร์โบไฮเดรตก็ต้องเป็นชนิดที่ดี เช่น ธัญพืชไม่ขัดสีที่มีกากใยสูง คาร์โบไฮเดรตที่ "ไม่ดี" อย่างพวกเบเกอรี่ต่าง ๆ มักจะมีส่วนผสมของไขมัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ส่วนผักผลไม้สดก็จำเป็นเพราะมีวิตามินและแร่ธาตุ ทั้งยังให้สารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรักษาโรค มะเร็ง ผู้ป่วยไม่ควรละทิ้งไขมันไปเสียหมด
ไขมัน ก็เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่ให้พลังงานสูง เพียงแต่ต้องละเว้นไขมันอิ่มตัวจำพวกนมเนยทั้งหลาย แล้วเลือกรับประทานเฉพาะชนิดที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวซึ่งเป็นไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หรือกรดไขมันที่เรียกว่า โอเมก้า3 ซึ่งพบได้ในปลาทะเล เพราะนอกจากจะบำรุงสมองและหัวใจแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบได้อีกด้วย
ข้อแนะนำการรับมือกับอุปสรรครับประทานอาหารของผู้ป่วยระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง
อาการเบื่ออาหารและคลื่นไส้อาเจียน แม้ปัจจุบันยารักษา มะเร็ง จะได้รับการพัฒนาไปค่อนข้างมากในการป้องกันอาการเหล่านี้ แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป วิธีแก้ไขก็คือให้ผู้ป่วยรับประทานน้อยๆ แต่บ่อยมื้อเข้าไว้ และอาหารต้องมีสารอาหารเข้มข้น ที่แม้จะรับประทานเพียงคำสองคำก็ยังให้ประโยชน์กับร่างกายได้
การติดเชื้อ ผู้ป่วยโรค มะเร็ง นั้นจะมีภูมิคุ้มกันต่ำด้วยฤทธิ์ของ ยา จึงสามารถติดเชื้อได้ง่าย ผักผลไม้ที่จะรับประทาน จึงจำเป็นต้องล้างให้สะอาดเป็นพิเศษ ของทุกอย่างควรปรุงสุก และไม่ควรรับประทานของหมักดอง
นอกจากนี้ บ่อยครั้งที่การรักษาและอาการของโรคทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บในช่องปากและคอ ทำให้กลืนอาหารได้ยาก แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเหลว เช่น นม โปรตีน ผงละลายน้ำ หรือผักผลไม้ปั่นรวมกัน โดยผู้ป่วยสามารถจิบไปได้เรื่อยๆ ทีละนิดตลอดทั้งวัน ผู้ป่วยหนักบางรายอาจต้องให้อาหารผ่านสายยาง แต่เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็ควรกลับมารับประทานอาหารตามปกติ เพราะเป็นวิธีที่จะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
ที่มา :สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น