วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556


นางถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัยซึ่งระบุว่า พบผู้หญิงไทยอายุเฉลี่ย 25-40 ปี มีค่าเฉลี่ย วิตามินดี ในเลือดต่ำกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 20 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งน้อยกว่าค่ามาตรฐาน คือต้องมากกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สาเหตุเนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่มีค่านิยมที่อยากมี ผิวขาว เนื่องจากพฤติกรรมการหลบแสงแดดหรือกิจกรรมกลางแจ้ง การทาครีมกันแดด และ อยู่ในห้องที่แสงแดดส่องไม่ถึง

นางถนอมวงศ์ กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้แสงแดดที่มีคุณสมบัติในการสร้าง วิตามินดี ให้กับร่างกาย ซึ่งเป็นวิตามินที่ส่งเสริมให้มีการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดและช่วยยับยั้งการหลั่งพาราไทรอยด์ฮอร์โมน ที่เป็นฮอร์โมนอันตรายที่จะไปสลายแคลเซียมออกจากกระดูก อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับกระดูก เกิดโรคกระดูกพรุน และทำให้คอกระดูกต้นขาเปราะและหักง่ายเมื่อผู้หญิงมีอายุเข้าสู่ช่วงสูงวัย
นายถนอมวงศ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลาที่จะได้รับ วิตามินดี คือช่วงเช้าและช่วงเย็น หรือช่วงที่แดดไม่แรงเกินไปจนได้รับอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต ที่ทำลายเซลล์ผิวหนัง นอกจากนี้การรับวิตามินดี สามารถทำได้จากการออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง ใต้ร่มไม้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กลางแดด

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ความชอบที่จะเห็นตัวเองมี ผิวขาว ของผู้หญิง หากมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตร่วมด้วย ก็จะมีปัญหาเรื่องการมองเห็นคุณค่าของตัวเองในด้านอื่นๆ ที่มี คนกลุ่มนี้จะสมมติเอาสิ่งฉาบฉวยภายนอกที่คนอื่นกำลังเห่อหรือชี้นำให้เห่อ เช่นที่เกิดขึ้นกับความสวย ความขาว จนขาดความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง และเสี่ยงต่อภาวะตึงเครียด รวมถึงกลายเป็นรู้สึกว่ามีปมด้อยที่ไม่ได้มี ผิวขาว
นอกจากนี้ ผู้ที่อยากมี ผิวขาว ที่น่ากังวลอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคดิสมอร์เฟีย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการคิดว่าตัวเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ ไม่สวยงาม มีความคิดหมกมุ่นหรือไม่พอใจในรูปร่างหรือรูปลักษณ์ของตัวเอง ทั้งที่จริงแล้วก็ดูปกติดีแต่ก็กังวลจนเชื่อว่าตัวเองผิดปกติ รวมถึงการไม่พอใจในสภาพผิวของตัวเอง

พญ.อัมพร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนไข้ของหมอหรือคลินิกผิวหนังเรื่อยไปไม่รู้จบ และเป็นสิ่งเดียวที่ผู้ป่วยหมกมุ่น คนกลุ่มนี้ต้องมีการรักษา ก่อนจะมีอาการโรคซึมเศร้าแทรกซ้อนในที่สุด

ที่มา : กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น